สภาพทั่วไปของตำบลคูเมือง
องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง เดิมเป็นการปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบสภาตำบลมาก่อน
เรียกว่า “สภาตำบลคูเมือง” องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง ได้รับการยกฐานะจากสภาตำบลคูเมือง จัดตั้งเป็นองค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง เมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538 ตามพระราชกฤษฎีกาที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2537 และมีผลใช้บังคับเมื่อวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2538
ตราสัญลักษณ์องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง ดวงตาสัญลักษณ์ประจำองค์การบริหารส่วนตำบล คูเมือง เป็นตรา “รูปมือป้องเทียนไข ”
1.ด้านกายภาพ
ลักษณะที่ตั้ง อาณาเขต พื้นที่ ลักษณะภูมิประเทศและเขตการปกครอง
1.1 ลักษณะที่ตั้ง
องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง ตั้งอยู่บ้านเลขที่ 20 หมู่ที่ 9 บ้านโคกกลาง ตำบลคูเมือง อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ ระยะทางห่างจากอำเภอคูเมือง ประมาณ 4 กิโลเมตร อยู่ทางด้านทิศเหนือของจังหวัดบุรีรัมย์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 34 กิโลเมตร
1.2 อาณาเขต มีอาณาเขตดังนี้
ทิศเหนือ ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหนองขมารและองค์การบริหารส่วนตำบลบ้านแพ
ทิศใต้ ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลพรสำราญและอำเภอลำปลายมาศ
ทิศตะวันออก ติดต่อกับเขตองค์การบริหารส่วนตำบลหินเหล็กไฟและเทศบาลตำบลหินเหล็กไฟ
ทิศตะวันตก ติดต่อกับเขตกิ่งอำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา
1.3 พื้นที่
องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง มีเนื้อที่ประมาณ 58 ตารางกิโลเมตรหรือประมาณ 36,250 ไร่
1.4 ลักษณะภูมิประเทศ
ตำบลคูเมือง อำเภอคูเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้น เดือนที่หนาวที่สุดมีอุณหภูมิต่ำกว่า 16 องศาเซลเซียส ฤดูร้อนอากาศร้อนมาก ฤดูฝน ฝนไม่ตกตามฤดูกาล
แผนที่แสดงอาณาเขตพื้นที่องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง
2. ด้านการเมือง/การปกครอง
โครงสร้างและอำนาจหน้าทีในการบริหารงานขององค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง มีโครงสร้างการบริหารงานตามพระราชบัญญัติสภาตำบลและองค์การบริหารส่วนตำบล พ.ศ. 2537 และแก้ไขเพิ่มเติมจนถึง (ฉบับที่ 5 ) พ.ศ. 2546 มีโครงสร้างบริหารงาน ส่วนประกอบด้วย
ส่วนที่ 1 สภาองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย สภาองค์การบริหารส่วนตำบลที่มาจากการเลือกตั้งโดยราษฎรผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งในแต่ละหมู่บ้านในเขตองค์กรบริหารส่วนตำบล จำนวนหมู่บ้านละ 2 คน ประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลและรองประธานสภาองค์การบริหารส่วนตำบลคัดเลือกจากสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ตามมติสภาองค์การบริหารส่วนตำบล และมีอำนาจหน้าที่ 3 ประการ คือ
(1) ให้ความเห็นชอบแผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล เพื่อเป็นแนวทางในการบริหารกิจการขององค์การบริหารส่วนตำบล
(2) พิจารณาและให้ความเห็นชอบร่างข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล ร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีและร่างข้อบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม
(3) ควบคุมการปฏิบัติงานของนายกองค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมายนโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ
ส่วนที่ 2 ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล ประกอบด้วย นายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน หรือรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 2 คน เลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล 1 คน โดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นผู้แต่งตั้ง ผู้บริหารองค์การบริหารส่วนตำบล มีอำนาจหน้าที่ 6 ประการ ดั้งนี้
(1) กำหนดนโยบายโดยไม่ขัดต่อกฎหมายและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามกฎหมาย นโยบาย แผนพัฒนาองค์การบริหารส่วนตำบล ข้อบัญญัติ ระเบียบ และข้อบังคับของทางราชการ
(2) สั่ง อนุญาต และอนุมัติเกี่ยวกับราชการขององค์การบริหารส่วนตำบล
(3) แต่งตั้งและถอดถอนรองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลและเลขานุการนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
(4) วางระเบียบเพื่อให้งานขององค์การบริหารส่วนตำบลเป็นไปด้วยความเรียบร้อย
(5) รักษาการให้เป็นไปตามข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนตำบล
(6) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัตินี้และกฎหมายอื่น</p>
ฝ่ายบริหาร
องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมืองมีการบริหารงานโดยนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคูเมืองเป็นผู้ควบคุมและรับผิดชอบในการบริหารราชการขององค์การบริหารส่วนตำบลตามกฎหมาย และเป็นผู้บังคับบัญชาของพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลโดยมีปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลคูเมืองเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานส่วนตำบลและลูกจ้างองค์การบริหารส่วนตำบลรองจากนายกองค์การบริหารส่วนตำบล และรับผิดชอบควบคุมดูแลราชการประจำขององค์การบริหารส่วนตำบลให้เป็นไปตามนโยบายและมีอำนาจหน้าที่ตามที่มี กฎหมายกำหนดหรือตามที่นายกองค์การบริหารส่วนตำบลมอบหมาย ทั้งนี้ องค์การบริหารส่วนตำบลคูเมือง ได้แบ่งส่วนราชการ 5 กอง 1 สำนัก คือ
(1) สำนักปลัด อบต.
(2) กองคลัง
(3) กองช่าง
(4) กองการศึกษา ศาสนาและวัฒนธรรม
(5) กองส่งเสริมการเกษตร
(6) กองสวัสดิการสังคม